ไวรัสตับอักเสบบี ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว
ไวรัสตับอักเสบบี ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว! คนทั่วโลกกว่า 254 ล้านคนต้องอยู่ร่วมกับ #โรคไวรัสตับเสบบี และกว่า 90% ยังมองไม่เห็นถึงหายนะทางสุขภาพที่แถมมากับโรคนี้
ไวรัสตับอักเสบบี (HBV) เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง ไม่แสดงอาการระยะแรก แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมามากมาย ทั้งภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ตับแข็ง หรือพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับ ซึ่งการป้องกันด้วยวัคซีนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ควบคู่กับการดูแลสุขอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อในทั่วโลกให้น้อยลงที่สุดภายในปี 2030
ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus, HBV) เป็นการติดเชื้อเรื้อรังที่เป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลก ในช่วงแรกหลังจากได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจมีอาการผิวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม ปวดบริเวณช่องท้อง ซึ่งอาจเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันและภาวะตับวายเฉียบพลันได้ ส่วนในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะตับแข็ง มะเร็งในตับ รวมถึงเพิ่มโอกาสการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ในที่สุด
รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยเปิดเผยว่า มีผู้ป่วยใหม่ในปี ค.ศ. 2022 ประมาณ 1.23 ล้านรายทั่วโลก ทำให้มีผู้คนจำนวนมากถึง 254 ล้านรายกำลังอยู่ร่วมกับโรคนี้ในขณะนี้ แต่ 9 ใน 10 คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพหรือผลกระทบต่อร่างกายที่อาจตามมาได้ในอนาคต
ความน่าสะพรึงกลัวของโรคอีกประการหนึ่ง คือ การได้รับเชื้อ เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะติดต่อจากแม่สู่ทารกได้ในระหว่างตั้งครรภ์ (Perinatal Transmission) ดังนั้น การป้องกันการแพร่กระจายที่ดีที่สุดคือ ‘การได้รับวัคซีน’ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำไว้ ดังนี้
- เด็กแรกเกิด - ควรได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด และต้องรับภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังจากคลอด
- เด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี - หลังจากได้รับวัคซีนครบแล้ว ควรตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี ที่อายุประมาณ 9-12 เดือน เพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันและไม่ติดไวรัสชนิดนี้ด้วย
- ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ - ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อหรือเคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรได้รับวัคซีนทุกคน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวนทั้งหมด 3 ครั้ง คือที่ 0, 1 และ 6 เดือน ตามลำดับ
- หญิงตั้งครรภ์ – วัคซีนนี้มีความปลอดภัย โดยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนได้รับวัคซีน
ข้อควรระวัง ควรระวังการฉีดวัคซีนในผู้ที่แพ้ยีสต์ และผู้ที่มีโรคไตเรื้อรัง ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
นอกจากการได้รับวัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบบีแล้ว การเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีจะช่วยเสริมเกราะป้องกันให้เราไม่ติดเชื้อนี้ได้
- การหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวที่มีความคมร่วมกันกับผู้อื่น เช่น ใบมีดโกน กรรไกรตัดเล็บ ยาสีฟัน ต่างหู เครื่องประดับที่ต้องเจาะตามร่างกาย ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ตรงกับวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day) ที่มุ่งเน้นบูรณาการสร้างความรู้ ปูความเข้าใจ ขจัดโรคไวรัสตับอักเสบ เพื่อลดปัญหาด้านสาธารณสุขที่รุนแรงให้น้อยที่สุดภายในปี ค.ศ. 2030
รายการอ้างอิง
- WHO. Global hepatitis report 2024: action for access in low- and middle-income countries. Geneva: World Health Organization; 2024. Licence: CC BY-NC-SA 3.0 IGO.
- แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กระทรวงสาธารณสุข. กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขปี 2567 [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี; แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กองโรคติดต่อทั่วไปกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: 18 ธันวาคม 2566 [เข้าถึงเมื่อ 14 มิถุนายน 2567]. เข้าถึงได้จาก https://ddc.moph.go.th/dcd/journal_detail.php?publish=15103
- สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ [ebook]. พฤษภาคม 2566 [เข้าถึงเมื่อ 14 มิถุนายน 2567]. เข้าถึงได้จาก https://www.idthai.org/Contents/Views/?d=!17!9!!954!