โรคหลอดเลือดหัวใจ ภัยร้ายใกล้ตัวที่ป้องกันได้ เพียงแค่ปรับไลฟ์สไตล์ของคุณ

عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
-
29 Sep 2024
-

 

ดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วยการปรับพฤติกรรม

World Heart Day 2024

 

ปัจจุบันมีคนป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases, CVDs) มากกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกปีจากวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งโรคนี้ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ (ประมาณ 1 ใน 3) ของคนทั่วโลก โดยมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 56,000 คนต่อวัน หรือทุก ๆ 1.5 วินาที

 

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease, CAD) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีผู้เจ็บป่วยถึง 300 ล้านคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มี 2 ประเภท

  1. ความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ พันธุกรรม
  2. ความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น การสูบบุหรี่ น้ำหนักตัว ภาวะไขมันในเลือด การบริโภคอาหาร

 

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้คือ การเริ่มป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยลดความเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ให้มากที่สุด การป้องกันโรคสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. การป้องกันแบบปฐมภูมิ (Primary Prevention)

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการ เน้นการปรับพฤติกรรมเป็นหลัก

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผักผลไม้ ข้าวแป้งไม่ขัดสี โปรตีนจากพืชหรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
  • หลีกเลี่ยงการอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารแปรรูป และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง 
  • เลือกวิธีปรุงอาหารแบบต้ม นึ่ง ลวก แทนการทอด อบ หรือย่าง
  • ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
  • ออกกำลังกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์
  • เลิกสูบบุหรี่ ลดดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ติดตามค่าความดันโลหิต น้ำตาล และไขมันในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

2. การป้องกันแบบทุติยภูมิ (Secondary Prevention)

สำหรับผู้อาการแล้ว มุ่งเน้นป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือเกิดความพิการ โดยแพทย์มักจะใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรค

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนขั้นแรก 
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ 
  • เข้าพบแพทย์ตามนัดหมาย รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์

3. การป้องกันแบบตติยภูมิ (Tertiary Prevention)

เพื่อลดผลกระทบจากโรค มุ่งเน้นป้องกันการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย 

  • รักษาด้วยการทำหัตถการและการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสม เช่น การผ่าตัดบายพาส การใส่ขดลวด (Stent) การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจที่ดีที่สุด คือ เริ่มป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทำได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องในวันหัวใจโลก (World Heart Day) ขอเชิญชวนทุกท่านเริ่มการลงทุน เพื่อดูแลหัวใจของตัวเอง ด้วยการมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ

รายการอ้างอิง

  1. BHF. Global Heart & Circulatory Diseases Factsheet [Internet]. Birmingham: British Heart Foundation; 2024 Jan [cited 2024 Aug 2]. Available from: https://www.bhf.org.uk/-/media/files/for-professionals/research/heart-statistics/bhf-cvd-statistics-global-factsheet.pdf?rev=%20e61c05db17e9439a8c2e4720f6ca0a19&hash=6350DE1B2A19D939431D876311077C7B
  2. Prasad K. Current Status of Primary, Secondary, and Tertiary Prevention of Coronary Artery Disease. Int J Angiol. 2021 Aug 25;30(3):177-86.

  

Share:

Recommended Packages & Promotions

ตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน Preventive Check Up คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู

เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ

39,000

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved