หยุด! "เบาหวาน" ด้วยการปรับพฤติกรรม
บันไดสู่สุขภาพที่ดีกว่า
เนื่องในวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายน 2566 World Diabetes Day 2023
สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (The International Diabetes Federation, IDF) เปิดเผยว่า ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี ค.ศ.2021 มีจำนวนประมาณ 541 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 10.6% และคาดการณ์ว่า ในอีก 65 ปีข้างหน้า อาจเพิ่มมากขึ้นถึง 730 ล้านคน หรือ 11.4% สำหรับประเทศไทย จากผลการสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ.2563 พบผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานนี้ มากถึง 10.7% ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภาวะนี้ถือเป็นปัญหาที่สำคัญไม่ว่าจะในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง แต่ยังไม่เข้าข่ายเกณฑ์ของโรคเบาหวาน กล่าวคือ เริ่มมีความผิดปกติในการใช้น้ำตาลของร่างกาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารผิดปกติ (Impaired Fasting plasma Glucose, IFG) และ/หรือ ความทนต่อน้ำตาลกลูโคสบกพร่อง (Impaired Glucose Tolerance, IGT) และ/หรือ ตรวจพบน้ำตาลสะสม (HbA1C) อยู่ระหว่าง 5.7-6.4% ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ หากไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม จะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานในอีก 5 ปีข้างหน้า
กุญแจสำคัญของการป้องกันการเกิดเบาหวานในอนาคตคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งประกอบไปด้วย 5 อย่างด้วยกัน คือ
1. การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม
ใช้หลักการ 2:1:1 โดยแบ่งจานอาหารออกเป็น 3 ส่วน
- 50% เป็นผักใบและผลไม้หวานน้อย
- 25% เป็นข้าวแป้งและธัญพืชไม่ขัดสี
- 25% เป็นโปรตีนจากพืช เช่น เต้าหู้ ถั่ว หรือโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา
- ลดหรือเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงและอาหารที่ผ่านกระบวนการสูง (Ultra-processed Food)
2. ควบคุมน้ำหนัก
ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน หากลดน้ำหนักอย่างน้อย 5-7% ขึ้นไป ใน 6 เดือน สามารถลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวานได้
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30-50 นาที อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ร่วมกับเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน
4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
ละเว้นจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ฯลฯ
5. ปรึกษาผู้ชำนาญการ
ปฏิบัติตามคำแนะนำในการปรับพฤติกรรม ปรึกษาปัญหาและติดตามผลกับผู้ชำนาญการอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 3-6 เดือน
ภาวะก่อนเบาหวาน เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจนำไปสู่โรคเบาหวาน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคจอตา โรคเส้นประสาท และโรคไตเสื่อมในอนาคต ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
BDMS Wellness Clinic
LINE: @bdmswellnessclinic
รายการอ้างอิง
- ElSayed NA, Aleppo G, Aroda VR, Bannuru RR, Brown FM, Bruemmer D, et al. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Care in Diabetes—2023. Diabetes Care. 2022 Dec 12;46(Supplement_1):S19–40.
- สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และสมาคมต่อไร้ท่อแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติ สำหรับโรคเบาหวาน 2566. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด; 2566.
- วิชัย เอกพลากร, บรรณาธิการ. การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 – 2563.
Recommended Packages & Promotions
เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ