ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง กลยุทธ์พิชิตเพชรฆาตเงียบ
“ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง กลยุทธ์พิชิตเพชรฆาตเงียบ”
ความดันโลหิตของมนุษย์เราเกิดจากหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะอื่นของร่างกาย โดยจะบีบเลือดของเราเข้าไปและเกิดความดันภายในหลอดเลือดแดง แต่เมื่อร่างกายมีค่าความดันโลหิตต่อผนังหลอดเลือดแดงสูงเกินกว่าปกติแล้ว จะถือว่าเป็น ‘โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)’ ซึ่งพิจารณาได้จากค่าความดันสองตัว คือ 1) ความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure, SBP) หรือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว และ 2) ความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure, DBP) หรือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว
ทั้งนี้ตามนิยามของสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ระดับความดันโลหิตตัวบน (SBP) ≥ 140 มม.ปรอท และ/หรือ ระดับความดันโลหิตตัวล่าง (DBP) ≥ 90 มม.ปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง (hypertension) โดยอ้างอิงจากการวัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาล
สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูง
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 30-79 ปี มีภาวะความดันโลหิตสูงถึง 1.28 พันล้านคนทั่วโลก โดย 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชากรราว 1 ใน 3 ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ อีกทั้งยังปฏิเสธการเข้ากระบวนการรักษาและควบคุมระดับความดันโลหิตอย่างจริงจัง
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีคนไทยวัยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงราว 1 ใน 4 คน และมีเพียง 48% เท่านั้นที่เข้าสู่ระบบการรักษา กล่าวคือ ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้ารับการรักษา หรือขาดการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
เพชรฆาตเงียบ ชื่อนี้มีที่มา
ในช่วงแรกร่างกายที่มีความดันโลหิตสูงขึ้นนั้น มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวจนกว่าจะมีการวัดความดันโลหิต ซึ่งหากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อไปเรื่อย ๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยภาวะนี้จะสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) โรคหัวใจวาย (Heart failure) โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) และภาวะไตวาย เป็นต้น และนำมาสู่การเสียชีวิตได้ จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘เพชรฆาตเงียบ (The Silent Killer)’
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต: ไม้ตายป้องกันเพชรฆาตเงียบ
ตัวอย่างการวิจัยหนึ่ง ศึกษาในกลุ่มที่มียีนความเสี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมนั้น นอกจากจะช่วยให้ค่าความดันตัวบนและความดันตัวล่างน้อยกว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแล้ว ยังมีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคหลอดเลือดสมองต่ำกว่าอีกด้วย กล่าวคือ วิถีการดำรงชีวิตถือเป็นพื้นฐานสำคัญต่อภาวะสุขภาพและการเกิดโรคในอนาคตได้ ซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสมมีดังนี้
- หมั่นวัดความดันโลหิตอยู่เสมอ – การทราบค่าความดันโลหิตของตัวเองจะทำให้ทราบภาวะสุขภาพของเราได้ โดยควรศึกษาการใช้งานเครื่องวัดความดันโลหิตและวิธีการวัดความดันอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ และติดตามค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หากมีแนวโน้มสูงขึ้นก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็วยิ่งขึ้น
- ดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสม - ความอ้วนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใหญ่มากกว่า 122 ล้านคนหรือราว 47% มีภาวะความดันโลหิตสูงและเกือบ 42% มีภาวะอ้วนเลยทีเดียว ดังนั้น การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ทั้งการลดน้ำหนักราว 5-10% จากน้ำหนักเดิม และทำให้น้ำหนักตัวคงที่นั้น จะมีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิต และลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้
- มีกิจกรรมทางกาย – การขยับเคลื่อนร่างกายสม่ำเสมอช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบการหายใจและการไหลเวียนโลหิตได้ โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้ใหญ่ มีกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ความหนักระดับปานกลาง เป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ ระดับหนักมาก เป็นเวลา 75-90 นาทีต่อสัปดาห์
- ออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistant exercise) อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน (Incidental exercise) เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ การเดินหรือปั่นจักรยานไปทำงานแทนการขับรถยนต์ การทำงานบ้าน เป็นต้น
- จำกัดการบริโภคโซเดียม – หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำ เช่น อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมาก/เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดอง รวมไปถึงเครื่องปรุงอย่างซอส ซีอิ๊ว ผงปรุงรส เกลือ กะปิ เป็นต้น โดยแต่ละวันเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ – หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ดื่มสุราอย่างหนักในเวลาอันสั้น (Binge drinking) หรือตามสำนวนไทยที่ว่า ‘เมาแบบหัวราน้ำ’
- งดสูบบุหรี่และสัมผัสควันบุหรี่ – การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าสามารถกระตุ้นให้ความดันโลหิตขึ้นสูงแบบเฉียบพลัน และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด ฉะนั้น ควรงดการสูบบุหรี่ในทุกรูปแบบ รวมไปถึงไม่สูดดมควันบุหรี่จากผู้สูบ หรือที่เรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง (Secondhand smoke)” ซึ่งอันตรายไม่ต่างจากการสูบบุหรี่เอง
- บริหารจัดการความเครียด – ความเครียด ความกังวล และซึมเศร้า อาจมีแนวโน้มที่จะให้เรามีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น เช่น รับประทานอาหารที่ไม่ดี สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่งได้ เราจึงควรหาวิธีจัดการความขุ่นหมองใจ ไม่ว่าการนั่งสมาธิ โยคะ ปล่อยวางความเครียด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสมลภาวะทางอากาศ – การรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น PM2.5 จากสิ่งก่อสร้าง รถประจำทาง/รถยนต์ และควันจากไฟป่าล้วนสัมพันธ์กับระดับความดันโลหิตที่สูงขึ้น ฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่เป็นแหล่งของควันพิษดังกล่าว หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยและเข้าไปในอาคารโดยเร็วที่สุด
โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขและยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลก หากเราเข้าใจถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และหันมาใส่ใจในสุขภาพแบบเชิงรุก ไม่ว่าจะการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม และการติดตามค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยป้องกันและพิชิตฆาตกรเงียบ ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวได้
โดย ทีมแพทย์ BDMS Wellness Clinic Institute และสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO)
รายการอ้างอิง:
1. NCD Risk Factor Collaboration (NCD-RisC). Worldwide trends in hypertension prevalence and progress in treatment and control from 1990 to 2019: a pooled analysis of 1201 population-representative studies with 104 million participants. Lancet. 2021;398(10304):957-80.
2. Mancia G, Kreutz R, Brunström M, Burnier M, Grassi G, Januszewicz A, et al. 2023 ESH Guidelines for the management of arterial hypertension The Task Force for the management of arterial hypertension of the European Society of Hypertension: Endorsed by the International Society of Hypertension (ISH) and the European Renal Association (ERA). J Hypertens. 2023;41(12):1874-2071.
- Charchar FJ, Prestes PR, Mills C, et al. Lifestyle management of hypertension: International Society of Hypertension position paper endorsed by the World Hypertension League and European Society of Hypertension. J Hypertens. 2024;42(1):23-49.
- Pazoki R, Dehghan A, Evangelou E, Warren H, Gao H, Caulfield M, et al. Genetic Predisposition to High Blood Pressure and Lifestyle Factors. Circulation. 2018 Feb 13;137(7):653–61.
- Martin SS, Aday AW, Almarzooq ZI, Anderson CAM, Arora P, Avery CL, et al. 2024 Heart Disease and Stroke Statistics: A Report of US and Global Data From the American Heart Association. Circulation. 2024 Feb 20;149(8):e347–913.
- สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562 [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 12 มิ.ย. 2567]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaiheart.org/images/column_1563846428/Thai%20HT%20Guideline%202019.pdf