ปวดประจำเดือนเป็นประจำ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ
สำหรับผู้หญิงอาการปวดประจำเดือนนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่บางคนก็มีอาการปวดที่รุนแรงมากจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้ไม่สามารถไปเรียนหรือไปทำงานได้ แต่ไม่ว่าอาการปวดนั้นจะเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง ถ้าเป็นการปวดในระยะเวลานาน ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่ไม่คาดคิด เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) โรคพังผืดชั้นกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) และโรคเนื้องอกมดลูกหลายชนิด
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ภาวะปวดประจำเดือน คือ อาการปวดที่เกี่ยวเนื่องจากการมีประจำเดือน (Dysmenorrhea) สามารถพบในเด็กวัยรุ่นร้อยละ 90 สตรีทั่วไปร้อยละ 50 โดยที่ร้อยละ 10 - 20 จะมีอาการปวดที่รุนแรงและรบกวนชีวิตประจำวัน อาการปวดมักเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปวดประจำเดือน ได้แก่
- ผู้ที่มีประวัติปวดประจำเดือนในครอบครัว
- ผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี
- ผู้ที่มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 12 ปี
- ผู้ที่มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 20 หรือมากกว่า 30
- ผู้ที่ยังไม่มีบุตร
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ที่มีรอบประจำเดือนนาน
- ผู้ที่ประจำเดือนมาในปริมาณมากและยาวนาน
- ผู้ที่มีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน
- ผู้ที่เคยมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลง่าย
รวมทั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ลำไส้ทำงานผิดปกติ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ แสบร้อนบริเวณปากช่องคลอด ปวดศีรษะเรื้อรัง รู้สึกอ่อนเพลีย รวมถึงมีบุตรยาก
คุณผู้หญิงจึงไม่ควรละเลยอาการปวดเหล่านี้ หากรู้สึกถึงความผิดปกติระหว่างมีประจำเดือน เช่น มีอาการปวดเรื้อรังที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จำนวนวันที่ปวดเพิ่มมากขึ้น รู้สึกปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ปวดท้องน้อย ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริงและจัดการกับโรคที่แฝงมากับการปวดประจำเดือน
ซึ่งในปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยและการรักษามีให้เลือกหลากหลาย สะดวกสบาย และไม่น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้คลื่นความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์ การใช้กล้องส่องในอุ้งเชิงกราน การรักษาด้วยยา การผ่าตัดส่องกล้องแบบ 3 มิติ เป็นต้น