ฝุ่นพิษ PM 2.5 เพชฌฆาตร้ายทำลายสุขภาพ

عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
-
08 May 2023
-

สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในช่วงต้นปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมากำลังเข้าขั้นวิกฤต หลายพื้นที่เกือบทั่วประเทศไทย ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ ลำพูน นครพนม ฯลฯ ประสบปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทัศนวิสัยการมองเห็นและการขับรถแย่ลง ตึกสูงน้อยใหญ่ขมุกขมัวมากเมื่อมองจากระยะไกล หลายคนรู้สึกอึดอัดหายใจไม่สะดวก “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” นี้สร้างความกังวลให้ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย ซึ่งนับเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ใหญ่มาก ณ ขณะนี้

มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วทุกย่อมหญ้า จนในปี พ.ศ.2561 องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า 9 ใน 10 คนทั่วโลกกำลังหายใจนำอากาศที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกายอยู่และได้คาดการณ์ว่าจะมีผู้คนเสียชีวิตจากมลพิษดังกล่าวมากถึง 7 ล้านคนต่อปี จากข้อมูลดังกล่าวหลากหลายประเทศได้ตระหนักและมีความพยายามจัดการปัญหานี้ แต่ทว่าปัญหากลับไม่ลดลงและยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ คุณหมอแอมป์ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก มีความกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะปัญหามลภาวะเหล่านี้มิได้ส่งผลแค่ระบบทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อทั่วทุกระบบของร่างกายได้มากกว่าที่คิด

 

 

ฝุ่น PM คืออะไร?

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter, PM) เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ประกอบไปด้วยส่วนผสมของแข็งและของเหลวแขวนลอยอยู่ในอากาศ มีรูปร่าง ขนาดและองค์ประกอบทางเคมีต่างกัน เช่น สารประกอบอนินทรีย์ (ซัลเฟต ไนเตรท แอมโมเนีย) สารประกอบอินทรีย์ โลหะหนัก (แคดเมียม ทองแดง สังกะสี) และสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons, PAHs) นอกจากนี้ “ยังสามารถพบสารก่อภูมิแพ้และเชื้อโรคต่าง ๆ ในอนุภาคขนาดจิ๋วนี้ได้ด้วย” คุณหมอแอมป์เสริม

โดยทั่วไป เรามักจะจำแนกอนุภาคนี้จากขนาดในหน่วยไมครอน (micron) กล่าวคือ หากฝุ่นตัวเล็กนี้มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน จะเรียกว่า PM10 (Coarse particle) หากมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะเรียกว่า PM2.5 (Fine particle) และหากมีขนาดเล็กกว่า 1.0 ไมครอนจะเรียกว่า PM1.0 (Ultrafine particle) ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะให้ความสนใจกับ PM2.5 เป็นอย่างมากและแนวโน้มจะเป็นปัญหามากขึ้นในตอนนี้

จากที่กล่าวมาข้างต้น PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ๆ เพื่อเข้าใจง่ายมากขึ้น คุณหมอแอมป์อธิบายเพิ่มเติมว่า “หากเปรียบเทียบกับเส้นผมเรานั้น ฝุ่นจิ๋วนี้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ถึง 20 - 28 เท่า และนั่นหมายถึงโอกาสที่จะเข้าสู่ร่างกายก็จะง่ายและรวดเร็วมากขึ้น”

 

PM2.5 เกิดจากอะไร?

ฝุ่นพิษนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันมีอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรามานานแล้ว โดยทั่วไปจะมีมากในช่วงเปลี่ยนถ่ายของฤดูกาล กล่าวคือ ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนลงมายังตอนบนของประเทศทำให้ลมมรสุมมีกำลังอ่อนลง เกิดภาวะลมสงบ ประกอบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทำให้ฝุ่นกระจุกตัว อากาศถ่ายเทไม่ดี มีการสะสมของฝุ่น หมอกและควันในบรรยากาศ จนเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างที่เราเห็นนั่นเอง นอกจากเหตุผลด้านสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมของมนุษย์ทั้งกลางแจ้งและในร่มก็ส่งเสริมให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้เช่นกัน

สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง อนุภาคฝุ่นพิษนี้มักมาจากการปล่อยควันเสียของรถยนต์ทั่วไป รถบรรทุก รถประจำทาง และรถยนต์ที่ขับบนพื้นขรุขระ (รถก่อสร้าง รถหัวจักร) และจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างไม้ถ่าน การเผาป่า การเผาเรือกสวนไร่นา การเผาหญ้า นอกจากนี้ยังมาจากปฏิกิริยาของแก๊สบนชั้นบรรยากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อีกด้วย

สำหรับกิจกรรมในร่มหรือกิจกรรมในครัวเรือนนั้นก็ส่งผลให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ เช่น การสูบบุหรี่ การประกอบอาหาร (ทอด ผัด ปิ้ง ย่าง) การจุดธูปเทียน ตะเกียง เตาผิง การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

 

ค่า AQI คืออะไร และ PM2.5 ไม่ควรเกินเท่าไหร่?

สำหรับเกณฑ์ของประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลโดยใช้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด รวมกัน ได้แก่ PM2.5 PM10 ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน จะสามารถแบ่งเป็น 5 ระดับสีด้วยกัน คือ

 

🔵 สีฟ้า → AQI 0 – 25 🔵

ดีมาก เหมาะสำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง

🟢 สีเขียว → AQI 26 – 50 🟢

ดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ปกติ

🟡 สีเหลือง → AQI 51 – 100 🟡

ปานกลาง ควรลดระยะเวลาอยู่กลางแจ้ง

🟠 สีส้ม → AQI 101 – 200 🟠

เริ่มมีผลต่อสุขภาพ ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง หากมีอาการใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์

🔴 สีแดง → AQI 201 ขึ้นไป 🔴

มีผลกระทบต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง หากมีอาการใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์

 

ปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศโดยทั่วไปของประเทศไทย ตามมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ใน 24 ชั่วโมง และไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรต่อปี

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้กำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ โดยปรับลดลงเป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร สำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร สำหรับค่าเฉลี่ยรายปี โดยจะมีผลบังคับใช้ในทันทีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตาม “เกณฑ์กำหนดมาตรฐานใหม่ยังคงสูงกว่าคำแนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines, AQGs) ฉบับใหม่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศไว้ในเดือนกันยายน 2564 กล่าวคือ ปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ใน 24 ชั่วโมง และไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรต่อปี” คุณหมอแอมป์เสริม

 

PM2.5 ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?

ค่าฝุ่น PM2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ในปี 2565 ควันพิษที่ประชาชนในกรุงเทพฯ สูดดมเข้าไปนั้นเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ราว 1,225 มวนตลอดทั้งปี หรือเฉลี่ยวันละ 3.36 มวนเลยทีเดียว ซึ่งถือได้ว่าอันตรายเป็นอย่างมาก คุณหมอแอมป์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากฝุ่น PM2.5 เป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก สามารถเข้าแทรกซึมสู่ร่างกายของมนุษย์เข้าไปได้ลึกจนทะลุถุงลมปอด เข้าไปในกระแสเลือดโดยตรง และส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบหายใจและส่วนอื่น ๆ ได้มากมาย ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ร่างกายได้รับความเสียหายจากสารอนุมูลอิสระและเกิดภาวะการอักเสบ

ฝุ่นควันมลพิษต่าง ๆ สามารถกระตุ้นการสร้างสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “สารอนุมูลอิสระ หรือ Free radicals” จนเกิดภาวะ oxidative stress นำมาซึ่งการทำลาย DNA, ยับยั้งการซ่อมแซม DNA ชักนำให้เกิดความผิดปกติแก่ทารกในครรภ์ การกลายพันธุ์ และผลเสียอื่นได้

นอกจากนี้ “สารอนุมูลอิสระจะไปสะสมอยู่ที่ตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นโรงงานกำจัดของเสียภายในร่างกาย โดยมีสารสำคัญอย่าง ‘กลูตาไธโอน’ ที่ช่วยในการขับสารพิษ ซึ่งหากร่างกายมีระดับของสารสำคัญนี้มากก็จะสามารถกำจัดของเสียได้เร็ว หากมีน้อยก็จะกำจัดของเสียได้ช้า และยิ่งได้รับของเสียในปริมาณมาก ก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา” คุณหมอแอมป์กล่าวถึงอันตรายของสารอนุมูลอิสระ

ทำให้เทโลเมียร์สั้นลง

เทโลเมียร์ (Telomere) คือส่วนปลายสุดของโครโมโซม ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รหัสพันธุกรรมถูกทำลายไปในระหว่างการแบ่งเซลล์ ซึ่งหากเราได้รับอนุมูลอิสระอย่างการสัมผัสมิลพิษทางอากาศมาก ก็จะส่งผลให้เทโลเมียร์หดสั้นลงมากกว่าปกติ เกิดความเสียหายต่อรหัสพันธุกรรมของเราได้ และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมา

เหนี่ยวนำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมา

ฝุ่น PM2.5 มีสัมพันธ์กับการสร้างสารอักเสบที่เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้น ซึ่งกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเข้าไปทำลายเซลล์ต่าง ๆ ทำให้พวกเรา โดยเฉพาะในเด็กมีภูมิต้านทานลดลง เป็นหวัดบ่อยมากขึ้น มีภาวะภูมิแพ้ และเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต และร้ายแรงที่สุดคือ เป็นโรคมะเร็งในระยะยาวได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอดที่ฆ่าชีวิตคนไทยไปกว่า 122,104 ราย ในปี 2563 ประกอบกับฝุ่นพิษนี้มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายอย่างสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) จึงเป็นเหตุให้สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) จัดให้เป็นสารระเหยชนิดนี้เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์

 

เราจะดูแลตนเองจาก PM2.5 ได้อย่างไรบ้าง?

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีมาตรการและนโยบายต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ แต่ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปควรมีการรับมือและป้องกันไม่ให้มลภาวะเข้าสู่ร่างกายของเราด้วย คุณหมอแอมป์จึงได้แนะนำวิธีป้องกันการดูแลตัวเองไว้ในเบื้องต้น ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงหรือลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อลดโอกาสการสัมผัสฝุ่นจากด้านนอก หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง อย่างหน้ากาก N95 หากมีความจำเป็นต้องไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นจำนวนมาก
  2. รณรงค์การเลือกใช้ยานพาหนะ และการขนส่งสาธารณะแบบระบบไฟฟ้า แทนการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (Fossil fuels) เช่น ถ่านหิน หินน้ำมัน และปิโตรเลียม
  3. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในครัวเรือนที่ส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนฝุ่น เช่น การสูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน ลดการปรุงประกอบอาหารประเภทปิ้ง ย่าง โดยเลือกเป็นการต้ม และนึ่งทดแทน
  4. จัดระเบียบที่พักอาศัย เช่น การติดตั้งเครื่องกรองอากาศ การหมั่นทำความสะอาดและพยายามให้มีการระบายอากาศที่ดีเสมอ
  5. หมั่นสังเกตอาการตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หากมีอาการใด ๆ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาแดง แน่นหน้าอก ปวดศีษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ฯลฯ ควรรีบปรึกษาแพทย์
  6. ดูแลเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเกราะป้องกันของร่างกาย ได้แก่
    • การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี อย่างผักและผลไม้ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและช่วยบำรุงตับ
    • งดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
    • ดื่มน้ำสะอาด 8 - 10 แก้วต่อวัน
    • นอนหลับเพียงพอ 8 - 9 ชั่วโมงต่อวัน
    • ลดความเครียด ทำอารมณ์ให้ผ่องใส
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (หาก PM2.5 มีปริมาณมาก สามารถปรับเป็นการออกกำลังกายในร่มได้ เช่น วิ่งบนสายพาน ปั่นจักรยานอยู่กับที่ ว่ายน้ำในร่ม ฯลฯ) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์

ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละออง PM2.5 ถือได้ว่าเป็นภัยคุมคามทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ แม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นและจะหมดไปโดยง่าย แต่ความรุนแรงที่มากขึ้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าพวกเราควรหันมาใส่ใจกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะนั้นคือตัวแปรสะท้อนสำคัญของการมีสุขภาวะของคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ในช่วงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ จึงขอส่งมอบความห่วงใยถึงทุกท่าน และรณรงค์ให้ร่วมมือกันลดการก่อมลพิษ เพื่อนำอากาศดี ๆ กลับมาสู่พวกเรา และเพื่อให้ลูกหลานของเราอยู่ในโลกปัจจุบันใบนี้ได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” คุณหมอแอมป์ฝากทิ้งท้าย

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic

LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ

  

รายการอ้างอิง
  • World Health Organisation. 9 out of 10 people worldwide breathe polluted air, but more countries are taking action [Internet]. 2018 May 2 [cited 2023 Feb 7]. Available from: https://www.who.int/news/item/02-05-2018-9-out-of-10-people-worldwide-breathe-polluted-air-but-more-countries-are-taking-action 
  • The California Air Resources Board. Inhalable Particulate Matter and Health (PM2.5 and PM10) [Internet]. 2017 Aug 6 [cited 2023 Feb 7]. Available from: https://ww2.arb.ca.gov/resources/inhalable-particulate-matter-and-health
  • The New York State Department of Health. Fine Particles (PM 2.5) Questions and Answers [Internet]. 2018 [cited 2023 Feb 7]. Available from: https://www.health.ny.gov/environmental/indoors/air/pmq_a.htm
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 (พ.ศ.2553) เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 127, ตอนพิเศษ 37 ง (ลงวันที่ 24 มีนาคม 2553).
  • กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เรียนรู้ อยู่กับฝุ่น PM2.5 [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2019/10/Chula-PM25.pdf
  • กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ. ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php
  • Xing YF, Xu YH, Shi MH, Lian YX. The impact of PM2.5 on the human respiratory system. J Thorac Dis. 2016;8(1):E69-74.
  • Spring News. ช็อก! สถิติปี2565 คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน [อินเทอร์เน็ต]. 27 มกราคม 2566 [เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/834787
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). ฝุ่น PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง เสี่ยงเสียชีวิตสูง ตายปีละ 7 หมื่นคน [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ฝุ่น-PM2-5-เป็นสารก่อมะเร็ง-เสี่ยงเสียชีวิตสูง-ตายปีละ-7-หมื่นคน
  • Zhao B, Vo HQ, Johnston FH, Negishi K. Air pollution and telomere length: a systematic review of 12,058 subjects. Cardiovasc Diagn Ther. 2018;8(4):480-92.
Share:

Recommended Packages & Promotions

ตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน Preventive Check Up คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู

เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ

39,000

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved