“กะหล่ำปลีตุ๋นเห็ดหอม” เมนูยอดฮิตช่วงกินเจ ปรุงอย่างไร...ให้ดีต่อสุขภาพ?
กะหล่ำปลีตุ๋นเห็ดหอม เป็นอีกหนึ่งเมนูยอดนิยมในช่วงเทศกาลกินเจในทุกปี เพราะไม่มีเนื้อสัตว์ เป็นเมนูผักที่ตุ๋นจนนุ่ม รับประทานง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ แต่จริง ๆ แล้ว เมนูกะหล่ำปลีตุ๋นเห็ดหอม กลับแฝงด้วยไขมันสูง โซเดียมสูง และน้ำตาลสูง เพราะต้องนำกะหล่ำปลีไปทอดก่อนจึงนำไปตุ๋น ปรุงรสชาติเข้มข้นทั้งเค็มและหวาน
วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการง่าย ๆ ในการปรับเปลี่ยนกรรมวิธี ให้เมนูกะหล่ำปลีตุ๋นเห็ดหอมกลายเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ สำหรับเทศกาลกินเจปีนี้
ลดมัน
บางตำราใช้น้ำมันในการทอดกะหล่ำปลีมากถึง 1 ลิตร แต่ที่จริงแล้วสามารถใส่น้ำมันเพียงเล็กน้อย จี่กะหล่ำปลีให้พอสุก จนส่งกลิ่นหอมก็ตักขึ้น พักไว้ ก่อนนำไปตุ๋น สามารถลดน้ำมันได้ถึงประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อกะหล่ำปลีหนึ่งหัว หรือเกือบ 300 กิโลแคลอรี
ลดเค็ม
เครื่องปรุงรสหลากหลายชนิดถูกใช้เพื่อปรุงรสให้อร่อย ทั้งเกลือ ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส ซอสเห็ดหอม และผงปรุงรสเจ ทำให้กลายเป็นเมนูอาหารโซเดียมสูงโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างซอสปรุงรส 2 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมสูงเกือบถึง 3,000 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าคำแนะนำโซเดียมที่ควรได้รับต่อวันที่ 2,400 มิลลิกรัม เราแนะนำให้เลือกใช้เครื่องปรุงรสเพียงชนิดเดียวและลดปริมาณลง นึกไว้เสมอว่า หลังจากตุ๋นแล้ว รสชาติน้ำซุปจะเข้มข้นกว่าเดิม อาจเลือกใช้ซอสปรุงรสหรือซอสเห็ดหอมเล็กน้อยเพื่อจะได้แต่งสีให้อาหารดูน่ารับประทาน
ลดหวาน
น้ำตาลกรวด ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มักถูกนิยมใช้เพื่อตัดรสชาติให้อร่อย แต่หลังจากลดปริมาณเครื่องปรุงที่มีรสเค็มลง จึงไม่จำเป็นต้องใส่น้ำตาลเยอะเท่าเดิมอีกต่อไป และกะหล่ำปลีเมื่อถูกตุ๋นจนสุกจะมีรสชาติหวานตามธรรมชาติอยู่แล้ว ช่วยให้ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำตาลเพิ่มลงไปอีก
การปรับเปลี่ยนกรรมวิธีเพียงเล็กน้อยนี้ช่วยให้เมนูกะหล่ำปลีตุ๋นเห็ดหอมจานโปรดของใครหลายคน กลายเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และยังสามารถนำหลักการนี้ไปปรับใช้กับเมนูอาหารอื่นๆ ได้อีกด้วย เพื่อให้เทศกาลถือศีลกินเจในปีนี้และปีต่อๆไป กลายเป็นปีที่ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของทุกคน ♥