สารต้านอนุมูลอิสระกับระบบภูมิคุ้มกัน

عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
-
07 Aug 2020
-

 

สารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) เป็นสารประกอบสำคัญที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติแล้วในกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายจะสร้างของเสียออกมา ซึ่งของเสียหนึ่งในนั้นก็คือ สารอนุมูลอิสระ (Free radicals)​

​สารนี้จะสร้างความเสียหายภายในร่างกายและทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะการอักเสบที่สูงอย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นสาเหตุของภาวะอื่น ๆ ตามมาในผู้สูงอายุ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น​

​สารอนุมูลอิสระในร่างกายที่ได้รับมา อาจมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น ความเครียด การนอนหลับไม่พอ มลพิษ ควันบุหรี่ แอลกอฮอล์ และอาหารแปรรูป ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ จากวิตามินและแร่ธาตุให้เพียงพอต่อการจับกับอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยให้การทำงานของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ​

​สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร? มาทำความรู้จักกับสารต้านอนุมูลอิสระ​

1. วิตามินซี (Vitamin C)​

มีความสามารถสูงและความไวในการปกป้องร่างกาย จากการทำลายของสารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในระหว่างการเผาผลาญของเซลล์ปกติ และจากการได้รับสารพิษหรือมลพิษ แต่หากร่างกายเกิดการติดเชื้อและมีความเครียด ปริมาณวิตามินซีในเลือดจะลดลง​

​นอกจากนี้ยังผลิตและเสริมสร้างการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมด้วย ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอด และปอดอักเสบ​

​2. วิตามินอี (Vitamin E)​

เป็นสารอาหารต้านอนุมูลอิสระละลายในไขมันที่สำคัญสำหรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งพบได้ในเยื่อหุ้มเซลล์ทั้งร่างกาย รวมถึงเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และช่วยเพิ่มการทำงานให้กับภูมิคุ้มกัน การทำงานร่วมกันของสารอาหารต้านอนุมูลอิสระ ยังช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fatty acids) ต่อการทำงานในระบบภูมิคุ้มกัน​

​3. กรดแอลฟาไลโปอิก (Alpha Lipoic Acid)​

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ และยังสามารถพบได้ในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กรดแอลฟาไลโปอิกช่วยควบคุมและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยจะไปยับยั้งเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดการอักเสบ รวมถึงยับยั้งการผลิตโปรตีนที่ส่งผลต่อการอักเสบ (Cytokine protein TNF-α) ​

และยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ และจากอาหาร เช่น กลูต้าไธโอน, โคเอ็นไซม์คิวเท็น, และวิตามินซี เป็นต้น ซึ่งการทำงานเหล่านี้ จะช่วยรักษาหรือฟื้นฟูความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันที่อาจนำไปสู่ภาวะการอักเสบเรื้อรัง ก่อให้เกิดโรค เช่น โรคอ้วนและโรคเบาหวาน​

​4. แอสตาแซนธิน (Astaxanthin)​

มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบที่สูงสุด ด้วยพลังการต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าวิตามินอี 550 เท่าและสูงกว่าวิตามินซีถึง 6,000 เท่า นอกจากนี้แอสตาแซนธินยังช่วยส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดได้รับมาภายหลัง ทั้งยังช่วยเพิ่มการผลิตไซโตไคน์และแอนติบอดี้ ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีแอสตาแซนธิน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจไม่เพียงช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ยังช่วยเสริมสร้างการทำงานของร่างกายโดยรวมอีกด้วย​

​ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหาร เราควรคำนึงถึงระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่ปกป้องเราจากไข้หวัดหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ยังเป็นพื้นฐานสำหรับเราในการต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ด้วย สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ เช่น วิตามินซี วิตามินอี กรดแอลฟาไลโปอิก และแอสตาแซนธิน จึงอาจเป็นอาวุธลับที่ช่วยให้เราฟื้นฟูหรือรักษาสุขภาพ และระบบภูมิคุ้มกันของเรา ​

​ทั้งนี้ทั้งนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามิน ควรต้องเจาะเลือดเพื่อเช็กระดับวิตามินในร่างกาย แล้วจึงปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนรับประทานวิตามินนั้น ๆ ​

 

​ทบทวนบทความโดย BDMS Wellness Clinic และสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) – ปรับปรุงวันที่ 14 เมษายน 2563​ 

แหล่งที่มา
  1. Friesen K, Boost Your Immune System with Antioxidants. [cited 2020 April 3]. Available from : https://www.openhand.org/…/boost-your-immune-system-antioxi…
  2. Pangrazzi L. Boosting the immune system with antioxidants: where are we now?. Immunology 2019. Febuary:42-4.​
  3. Bendich A. Vitamin E and immune functions. Basic Life Sci 1988. 49:615-620.​
  4. Liu W, et al. The Immunomodulatory Effect of Alpha-Lipoic Acid in Autoimmune Diseases. Biomed Res Int. 2019:11-21.​
  5. Cave MC, et al. Obesity, Inflammation, and the Potential Application of Pharmaconutrition. Nutr Clin Pract. 2008. 23(1):16-34.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved