สารอาหารป้องกันภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ
สารอาหารป้องกันภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะได้รับพลังงานและสารอาหารที่ไม่เพียงพอจากภาวะเบื่ออาหาร (Anorexia of aging) ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การรับกลิ่นและรสที่เปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนควบคุมความหิวและความอิ่มที่ไม่สมดุล ระบบทางเดินอาหารที่เคลื่อนไหวช้าลง การอักเสบที่เพิ่มขึ้น ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
นอกเหนือจากภาวะเบื่ออาหารแล้ว ระบบทางเดินอาหารของผู้สูงอายุยังดูดซึมสารอาหารได้ลดลง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานภายในร่างกาย และอาจส่งผลต่อความอยากอาหารของผู้สูงอายุ
1. สังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุตัวหนึ่งที่มีความสำคัญต่อทั้งการเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกัน ปริมาณสังกะสีที่ผู้สูงอายุต้องการต่อวันคือ 10.9 มิลลิกรัมในผู้ชายและ 8.6 มิลลิกรัมในผู้หญิง อาการหนึ่งของภาวะขาดสังกะสี คือ การรับรสที่ผิดปกติ (Dysgeusia) ทำให้อาหารส่วนใหญ่ที่รับประทานมีรสขมหรือรสโลหะ และสามารถนำไปสู่ภาวะเบื่ออาหารได้
เนื่องจากสังกะสีมีส่วนช่วยในการสร้างและรักษาเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelial tissue) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผม ผิว เล็บ ในส่วนของการรับกลิ่นและรส เนื้อเยื่อรับกลิ่น (Olfactory epithelium) และปุ่มรับรสที่ลิ้น มีโครงสร้างเป็นเนื้อเยื่อบุผิวเช่นกัน อีกทั้งเอนไซม์จำนวนมากมีสังกะสีเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรูรับรส (Taste pore) นอกจากนี้สังกะสียังมีความสำคัญในการสังเคราะห์ DNA ซึ่งมีบทบาทในการสร้างโปรตีน เมื่อร่างกายขาดสังกะสี การสร้างปุ่มรับรสทดแทนจึงทำได้ช้าลง เกิดปัญหาในการรับรสได้
แหล่งอาหารของสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลาและอาหารทะเล
สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถเลือกเป็นธัญพืชไม่ขัดสีต่าง ๆ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของธัญพืช เช่น เต้าหู้ เทมเป้ ขนมปังธัญพืช เป็นต้น แหล่งอาหารจากพืชที่มีสังกะสีมักจะมีไฟเตทสูงด้วย ทำให้การดูดซึมสังกะสีลดลง อาจต้องรับประทานในปริมาณเพิ่มมากขึ้น หรือสามารถนำธัญพืชไปแช่ในน้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนนำไปประกอบอาหาร เพื่อลดปริมาณ ไฟเตทและทำให้ร่างกายดูดซึมสังกะสีได้ดีขึ้น
2. ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นแร่ธาตุที่อยู่ในโครงสร้างของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงซึ่งมีหน้าที่พาออกซิเจนไปทั่วร่างกาย การขาดธาตุเหล็กจึงเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลหิตจาง (Anemia) โดยปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำในผู้สูงอายุ คือ 11 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 10 มิลลิกรัมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
ภาวะเบื่ออาหารพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การศึกษาในปี ค.ศ. 2020 ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร PLOS ONE พบว่า ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะมีระดับของฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ต่ำกว่าคนที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความอยากอาหาร อย่างไรก็ตาม ภาวะโลหิตจางอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การขาดธาตุเหล็ก เช่น การขาดวิตามินบี 12 การขาดโฟเลต โรคเรื้อรัง หรือการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น
แหล่งอาหารของธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่
สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอาจเลือกเป็นพืชที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียวเข้มบางชนิด เช่น ผักโขม เป็นต้น
เนื้อสัตว์จะมีธาตุเหล็กในรูปฮีม (Heme iron) ถูกดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กที่ไม่มีฮีม (Non-heme iron) ซึ่งมักพบในพืช การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กคู่กับผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น
3. วิตามินซี (Ascorbic acid) เป็นวิตามินที่มีความสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ สังเคราะห์คอลลาเจนและช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก ปริมาณวิตามินซีที่ผู้สูงอายุต้องการต่อวันคือ 100 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 85 มิลลิกรัมในผู้หญิง โรคที่เกิดจากการขาดวิตามินซีที่รู้จักกันดีคือ โรคลักปิดลักเปิด (Scurvy) ซึ่งหนึ่งในอาการนำของภาวะนี้คือ ความอยากอาหารลดลง
นอกจากนี้ หนึ่งในโรคทางช่องปากที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรคปริทันต์ (Periodontitis) เกิดจากภาวะเหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษา สามารถนำไปสู่ภาวะเบื่ออาหาร จากความเจ็บปวดและปัญหาการเคี้ยวอาหาร หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการสะสมของแบคทีเรียที่บริเวณนั้น จนอาจทำให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด งานวิจัยที่ศึกษาประชากร 12,419 คน พบว่า การบริโภควิตามินซีที่ลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์ถึง 19% และหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่มาก่อน ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก
แหล่งอาหารของวิตามินซี ได้แก่ ผักผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะ มะละกอ ส้มโอ พริกหวาน คะน้า บรอกโคลี เป็นต้น
แม้วิตามินและแร่ธาตุจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะเบื่ออาหารของผู้สูงอายุ แต่การเสริมวิตามินในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรจะอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุท่านนั้นได้เสริมวิตามินหรือแร่ธาตุตัวที่ร่างกายขาด และสามารถป้องกันอันตรายจากการได้รับวิตามินและแร่ธาตุเกินขนาดได้
โดย ทีมแพทย์ BDMS Wellness Clinic Institute และสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO)
แหล่งอ้างอิง:
- Landi F, Calvani R, Tosato M, Martone AM, Ortolani E, Savera G, Sisto A, Marzetti E. Anorexia of aging: risk factors, consequences, and potential treatments. Nutrients. 2016 Jan 27;8(2):69.
- Pisano M, Hilas O. Zinc and taste disturbances in older adults: a review of the literature. The Consultant Pharmacist®. 2016 May 1;31(5):267-70.
- Younes S. The impact of micronutrients on the sense of taste. Human Nutrition & Metabolism. 2023 Dec 7:200231.
- Ghrayeb H, Elias M, Nashashibi J, Youssef A, Manal M, Mahagna L, Refaat M, Schwartz N, Elias A. Appetite and ghrelin levels in iron deficiency anemia and the effect of parenteral iron therapy: A longitudinal study. Plos one. 2020 Jun 4;15(6):e0234209.
- Nishida M, Grossi SG, Dunford RG, Ho AW, Trevisan M, Genco RJ. Dietary vitamin C and the risk for periodontal disease. Journal of periodontology. 2000 Aug;71(8):1215-23.
- Bureau of Nutrition, Department of Health, Ministry of Public Health. Dietary Reference Intake Tables for Thais 2020. 1st ed. Bangkok: A.V. Progressive Ltd., Part.: 2020. (in Thai)