9 การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน ที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับ
เนื่องในเดือนพิเศษ ทาง บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก อยากชักชวนคุณแม่และผู้หญิงทุกคนมาตรวจสุขภาพ เพราะการรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรง (Wellness) มีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุข (Happiness) ย่อมดีกว่าความอ่อนล้าและทรมานที่อาจมาพร้อมความเจ็บป่วย (Sickness) การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Check-up) ช่วยเปิดโอกาสให้สามารถคัดกรองโรคและความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนและปัญหาทางสุขภาพร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
9 การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน ที่ผู้หญิงควรได้รับมีดังต่อไปนี้
1. การตรวจแปบสเมียร์ (Pap smear หรือ pap test)
เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ หรือเซลล์ที่อาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง รวมถึงการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ โดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ทำการตรวจแปบเสมียร์ทุก ๆ 3 ปี
2. การทำแมมโมแกรม (mammogram)
เมื่ออายุเริ่มต้น 50 ปี ผู้หญิงควรได้รับการตรวจแมมโมแกรมทุก 2 ปี แต่ถ้าคุณมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม ควรได้รับการตรวจอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรติดตามเป็นประจำทุกปี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณแม่ของคุณถูกวินิจฉัยว่ามีมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 45 ปี คุณควรเข้ารับการทำเมมโมแกรม ที่อายุ 35 ปี หรือ 10 ปีล่วงหน้า เพราะแมมโมแกรมถือเป็นเครื่องมือคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพ การศึกษาแสดงให้เห็นว่า การทำแมมโมแกรม สามารถลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้มากถึง 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั้งหมด
3. การตรวจองค์ประกอบร่างกาย (Body Composition Analysis)
ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบอยู่เสมอ การตรวจวัดร่างกายเพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นของมวลกระดูก มวลไขมัน และมวลกล้ามเนื้อ ด้วยเครื่อง DEXA scan ทำให้ทราบข้อมูลของร่างกายมากกว่าการใช้น้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียว ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการคัดกรองความหนาแน่นของกระดูก เมื่ออายุ 65 ปี เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) และทราบถึงมวลไขมันในร่างกาย ว่าเรามีภาวะอ้วนหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มากกว่า 32% ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ป้องกันการพลัดตกหกล้มที่อาจเกิดขึ้นได้
4. ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการคัดกรองมะเร็งลำไส้ ช่วยค้นหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติและเซลล์มะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค ให้ผลการรักษาที่ดีกว่า และอาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ บุคคลที่มีอายุมากกว่า 45 ปี หรือมีคนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรได้รับการตรวจคัดกรองอยู่เสมอ
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การตรวจหาค่า Carcinoembryonic antigen (CEA) ซึ่งเป็นสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker), การตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal occult blood test) ซึ่งควรทำการตรวจปีละ 1 ครั้ง, และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทุก 3 ถึง 5 ปี ซึ่งการตรวจคัดกรองมีหลายรูปแบบขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็ง ผู้หญิงทุกคนจึงควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษา
5. การตรวจระดับฮอร์โมนต่าง ๆ
เพราะฮอร์โมนส่งผลต่อการทำงานทั่วทั้งร่างกาย การตรวจระดับฮอร์โมนเพศในเลือด สามารถบ่งบอกข้อมูลสุขภาพของผู้หญิงที่สำคัญหลายอย่างได้ อาทิเช่น ช่วงของการมีประจำเดือน, ภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility), สัญญาณเริ่มต้นวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง (menopause), ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome; PCOS) หรือเนื้องอกบางชนิด
การตรวจระดับฮอร์โมนชนิดอื่น เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin), ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone), หรือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ การตรวจวัดระดับฮอร์โมนนำไปสู่การฟื้นฟู ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต รวมถึงการเสริมยาและวิตามินต่างๆ
6. การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
โรคเบาหวานประเภทที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินสูลิน (Insulin resistance) เราควรทำการคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร และระดับน้ำตาลสะสม (Glycated hemoglobin A1C; HbA1C) ร่วมกับระดับฮอร์โมนอินซูลินในเลือด (Fasting Insulin) อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะยังไม่เคยมีอาการแสดงถึงโรคเบาหวานมาก่อน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เคยมีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรได้รับการคัดกรองเบาหวานทุกๆ 3 ปี ภายหลังการตั้งครรภ์
การวัดระดับไขมันในเลือดคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol), ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride), ไขมันแอลดีแอล (LDL), และไขมันเฮชดีแอล (HDL) ทำให้ทราบความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ระดับน้ำตาลและไขมันที่สูงเป็นระยะเวลานาน นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ และการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ทั้งโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทย การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยให้คุณระมัดระวังพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร และออกกำลังกาย รวมถึงแพทย์อาจให้ยาเฉพาะทาง เพื่อป้องกันการเกิดโรคในอนาคต
7. การตรวจรหัสพันธุกรรมความเสี่ยงมะเร็ง
BRCA1 (BReast CAncer gene 1) และ BRCA2 (BReast CAncer gene 2) เป็นยีนซึ่งทำหน้าที่ผลิตโปรตีน ช่วยซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ DNA การกลายพันธุ์ของยีนทั้งสองชนิดนี้ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้น 55% - 72% และโรคมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นสูงสุด 44% ส่วนการกลายพันธุ์ของยีน BRCA2 เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ หลังช่วงอายุ 70 - 80 ปี ได้สูงขึ้น 69% และ 17% ตามลำดับ
วิธีเดียวที่จะทราบว่ามีการกลายพันธุ์ของ BRCA คือต้องทำการตรวจรหัสพันธุกรรม วิธีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งดังกล่าว
8. การตรวจสายตาและการได้ยิน
เพราะเรามีตาและหูเพียงคู่เดียวในชีวิต การตรวจสุขภาพตาและหูเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก การตรวจสุขภาพสายตาเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา หรือผลจากความดันโลหิตสูง, การเกิดต้อต่างๆ เช่น ต้อหิน (Glaucoma), ต้อกระจก (Cataract), ต้อลม (Pinguecula), ต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นต้น ผู้ใหญ่ทุกคนควรเข้ารับการตรวจสายตาทุก 2 ปี จนกว่าอายุ 60 ปี หรืออาจเข้ารับการตรวจเร็วกว่านั้นได้หากรู้สึกว่าสายตามีการเปลี่ยนแปลง การตรวจระดับการได้ยิน เป็นการตรวจสมรรถภาพการทำงานของหูและระบบโสตประสาทเพื่อหาระดับการได้ยิน ช่วยเฝ้าระวังภาวะสูญเสียการได้ยิน โดยควรเข้ารับการตรวจทุก 10 ปี และตรวจทุกปีเมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
9. ตรวจสุขภาพผิวพรรณ
การตรวจวิเคราะห์สภาพผิว (Skin Analysis) ด้วยเครื่อง Complexion analysis photography system เป็นการระบุประเภทของผิวที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ทำให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาผิว ข้อดี และ ข้อบกพร่อง โดยกล้องมีความละเอียดสูง ทำให้สามารถตรวจวิเคราะห์ผิวชั้นบนและผิวชั้นที่ลึกลงไป โดยจะสามารถเห็นปริมาณรอยดำ รอยแดง ฝ้า กระ การอักเสบของผิว ความกว้างของรูขุมขน ริ้วรอย สารที่ทำให้เกิดสิวบนใบหน้า UV Spots ความไม่สม่ำเสมอของสีผิว และยังสามารถบอกอายุผิวที่แท้จริงของแต่ละบุคคลได้อีกด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำและการรักษาที่ตรงจุด รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวของคุณผู้หญิงให้มากที่สุดอีกด้วย
Reference
- Recommendations for Well-Woman Care Clinical Summary Tables [Internet]. Washington, DC: Women’s Preventive Services Initiative (WPSI); 2022 [cited 6 July 2022]. Available from: https://www.womenspreventivehealth.org/wp-content/uploads/FINAL_WPSI_ClinicalSummaryTables_2022.pdf
- Cleveland Clinic medical professional. Hormones: What They Are, Function & Types [Internet]. Cleveland Clinic. 2022 [cited 30 June 2022]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/articles/22464-hormones
- Colorectal Cancer Screening (PDQ®)–Patient Version [Internet]. National Cancer Institute. 2022 [cited 6 July 2022]. Available from: https://www.cancer.gov/types/colorectal/patient/colorectal-screening-pdq
Recommended Packages & Promotions
เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ